Saturday, November 18, 2006

การเมืองเรื่องมายา

ดูหนัง"ลงคะแนน" ประชาธิปไตยสไตล์มะกัน

คอลัมน์ อาทิตย์เธียเตอร์

โดย พล พะยาบ



ช่วงครึ่งปีหลังที่ผ่านมา โดยเฉพาะ 2 เดือนก่อนการเลือกตั้งกลางเทอมของสหรัฐอเมริกา มีขบวนแถวหนังสารคดีโดยคนทำหนังเล็กๆ หลายต่อหลายเรื่อง ทยอยเปิดฉายในวงแคบตามเทศกาลหนัง สมาคม สถาบัน ร้านอาหาร หรือแม้กระทั่งในโบสถ์ บางเรื่องได้ฉายทางโทรทัศน์ พร้อมกับเปิดขายในรูปแบบดีวีดีทางเว็บไซต์

หนังสารคดีกลุ่มนี้เกือบทั้งหมดกล่าวถึงเรื่องเดียวกัน คือ ความวุ่นวาย สภาพปัญหา รวมถึงความไม่ชอบมาพากลที่เกิดขึ้นในการเลือกตั้งประธานาธิบดีเมื่อปี 2004 ที่ จอร์จ ดับเบิลยู. บุช เฉือน จอห์น แคร์รี่ คู่แข่งจากเดโมแครตไปอย่างสูสี ท่ามกลางความคลางแคลงใจต่อผลการนับคะแนนในหลายจุดหลายมลรัฐ พร้อมกับแนบสารไปยังผู้ชมว่า ชาวอเมริกันแน่ใจได้อย่างไรว่าคะแนนเสียงของตนถูกนับ หรือคะแนนที่ถูกนับอาจจะไม่ตรงกับคนที่เลือก

แน่ใจหรือว่าเขตเลือกตั้งของคุณและเครื่องนับคะแนนอิเล็กทรอนิกส์ทำงานได้อย่าง
เที่ยงตรงและถูกต้อง

ลองไล่เรียงดูชื่อหนังสารคดีกลุ่มนี้ไม่ว่าจะเป็น "Stealing America,Vote by Vote" "Hacking Democracy"
หรือ "Eternal Vigilance : The Fight to Save Our Election System" ก็จะพบว่าดุเดือดเผ็ดมันกันตั้งแต่ชื่อเรื่องเลยทีเดียว และในเมื่อเนื้อหาของหนังกล่าวถึงปัญหาในการเลือกตั้งที่บุชและรีพับลิกันได้รับชัยชนะ ประกอบกับการนำเสนอในช่วงเวลาก่อนหน้าการเลือกตั้งกลางเทอมวันที่ 7 พฤศจิกายนไม่นาน

"หนังเลือกตั้ง" เหล่านี้จึงเลี่ยงไม่พ้นที่จะถูกมองว่าเป็นแนวร่วมต่อต้าน-ดิสเครดิตบุชและรีพับลิกัน

สำหรับเนื้อหาของหนังส่วนใหญ่ในกลุ่มนี้หยิบยกปัญหามากมายในการเลือกตั้งที่อเมริกันชน
ต้องเผชิญมาตีแผ่ขุดคุ้ย และตั้งคำถามว่าจะเกิดขึ้นอีกหรือไม่ในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นสารพัดกลโกงหลายรูปแบบ รวมไปถึงเครื่องนับคะแนนอิเล็กทรอนิกส์เจ้าปัญหาที่สามารถ "แฮค" ได้อย่างง่ายดาย

หลายเรื่องโฟกัสไปที่ความวุ่นวายซึ่งเกิดขึ้นที่รัฐโอไฮโอ หนึ่งใน "สะวิง สเตต" ที่ได้เป็นรัฐตัดสินว่าใครเป็นผู้ชนะเมื่อ 2 ปีก่อน คราวนั้นคะแนนของบุชนำแคร์รี่เพียงเล็กน้อย ก่อนที่แคร์รี่จะยอมรับความพ่ายแพ้โดยไม่รอผลการนับคะแนนบัตรเลือกตั้งชั่วคราวให้เสร็จสิ้น ท่ามกลางความผิดหวังของ
ผู้สนับสนุน

หนังเด่นที่สุดในกลุ่มนี้น่าจะเป็น American Blackout สารคดีความยาว 92 นาที ของ เอียน อินเอบา ที่ได้รางวัลพิเศษจากกรรมการเทศกาลหนังซันแดนซ์ครั้งล่าสุด หนังตามดูเรื่องราวของ ซินเธีย แมคคินนีย์ ส.ส.หญิงผิวสีแห่งจอร์เจีย ที่ตามสืบสาวความไม่ชอบมาพากลในการเลือกตั้งซึ่งทำให้ผู้มีสิทธิจำนวนมาก "เสียงหาย" ตั้งแต่ที่ฟลอริดาปี 2000 มาจนถึงโอไฮโอ ปี 2004 โดยที่สื่อใหญ่ๆ ไม่แยแส มองว่าเป็นแค่ข่าวลือที่ไร้ความสำคัญ ประกอบการสัมภาษณ์นักการเมือง นักวิชาการ สื่อมวลชน และผู้เกี่ยวข้องอื่นๆ

อีกเรื่องที่น่าสนใจคือ Stealing America,Vote by Vote โดยผู้กำกับฯหญิง โดโรธี ฟาดิแมน คนทำสื่อที่มุ่งนำเสนอประเด็นความยุติธรรมในสังคมและสิทธิมนุษยชนมายาวนานร่วม 30 ปี มีรางวัลการันตีการทำงานกว่า 50 รางวัล

หนังปะติดปะต่อเบื้องหลังการเลือกตั้งในมุมมองของผู้คนหลากหลาย ทั้งคนทำโพล
ผู้เชี่ยวชาญด้านเครื่องคอมพิวเตอร์นับคะแนน ผู้สื่อข่าว นักการเมือง นักเคลื่อนไหว และผู้มีสิทธิลงคะแนนทุกช่วงวัยทุกกลุ่ม
อาทิ นักศึกษาชาวโอไฮโอที่ต้องรอลงคะแนนถึง 12 ชั่วโมง หรือชาวอเมริกันพื้นเมืองและชาวอิสแพนิคในนิวเม็กซิโกที่ได้ใช้สิทธิเลือกตั้งเป็นครั้งแรกเพื่อจะได้รู้ว่าสุดท้ายแล้วเสียงของ
พวกเขาไม่ถูกนับ

Stealing America,Vote by Vote ได้ตั้งคำถามว่าเราจะสร้างระบบการเลือกตั้งที่ช่วยให้ประชาชนมั่นใจว่าเสียงที่พวกเขาใช้ไปนั้นถูกนับอย่างถูกต้องชอบธรรม
ได้อย่างไร

สำหรับ Hacking Democracy ของ ไซมอน อาร์ดิสโซน และรัสเซลล์ ไมเคิลส์ สารคดีความยาว 90 นาที สัญชาติอังกฤษ ที่ได้ฉายทางช่องเอชบีโอช่วงต้นเดือนพฤศจิกายน มุ่งแฉเครื่องนับคะแนนอิเล็กทรอนิกส์เจ้าปัญหาโดยเฉพาะ เดินเรื่องโดยคุณยาย เบฟ แฮร์ริส ชาวซีแอตเติลที่ข้องใจว่าเหตุใดทางการจึงซื้อเครื่องนี้มาใช้งาน

แฮร์ริสพบว่าเครื่องนับคะแนนของบริษัทหนึ่งไม่มีการเก็บหลักฐานเอกสาร หากมีปัญหาใดๆ ที่ต้องให้นับคะแนนใหม่ก็จะทำไม่ได้ และเมื่อเธอเข้าไปในเว็บไซต์ของบริษัทยังพบว่าข้อมูลภายในเกี่ยวกับซอฟต์แวร์ไม่มีระบบป้องกันใดๆ ไว้เลย ซึ่งผู้เชี่ยวชาญทุกคนต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าซอฟต์แวร์ที่ว่านี้สามารถแฮคเพื่อแต่งผลการเลือกตั้งได้ง่ายมาก

Hacking Democracy จึงมีชื่อในคราวแรกว่า Votergate เพื่อล้อเลียนคดีล้วงข้อมูลสนั่นโลกในอดีต

อีกเรื่องที่พูดถึงกลโกงการเลือกตั้งสารพัดวิธี และจับจ้องไปที่เครื่องนับคะแนนอิเล็กทรอนิกส์คือ Eternal Vigilance : The Fight to Save Our Election System ของ เดวิด เอิร์นฮาร์ดต์ ทั้งยังกล่างถึงชาวอเมริกันผิวสีที่มีปัญหาเกี่ยวกับการใช้สิทธิหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการข่มขู่คุกคาม หรือถูกโยกย้าย-เปลี่ยนแปลงสถานที่ลงคะแนน

ประเด็นชาวอเมริกันผิวสีอยู่ในหนังอีกเรื่องหนึ่ง เป็นหนังสารคดีขนาดสั้น ความยาว 26 นาที เรื่อง No Umbrella : Election Day in the City โดย ลอร่า พากลิน เจ้าของผลงานเล่าว่า เธอพกกล้องวิดีโอไปยังหน่วยเลือกตั้งในเมืองคลีฟแลนด์ โอไฮโอ โดยไม่คาดคิดมาก่อนว่าจะได้บันทึกเหตุการณ์ความโกลาหลตึงเครียดที่ผู้ใช้สิทธิต้องรอคอยเนิ่นนานเพราะปัญหาติดขัด
เกี่ยวกับเครื่องนับคะแนน โดยมีคุณยายผิวสี วัย 80 เป็นตัวละครหลักที่คอยติดต่อสอบถาม-ซักไซ้เจ้าหน้าที่ และเป็นผู้กล่าวคำคมเปรียบเทียบเหตุการณ์นี้ซึ่งถูกใช้เป็นชื่อหนังว่า "เหมือนกับเราภาวนาให้ฝนตก แต่ลืมพกร่มมาด้วย"

ภาพของชนชั้นล่าง ผิวสี ที่ต้องผจญกับอุปสรรคในวันเลือกตั้งกับความบกพร่องของเจ้าหน้าที่รัฐ จึงมองได้ว่าเป็นการสะท้อนถึงความไม่พอใจของชาวอเมริกันที่มีต่อพรรครีพับลิกัน

ยังมีหนังเรื่องอื่นๆ อีก เช่น So Goes the Nation โดย อดัม เดล ดีโอ และเจมส์ ดี. สเติร์น ที่มองภาพรวมการเลือกตั้งที่โอไฮโอ ตั้งแต่ยุทธศาสตร์การหาเสียงของบุชกับแคร์รี่ จนถึงสิ้นสุดกระบวนความ ส่วน Call It Democracy ของ แมตต์ คอห์น ย้อนไปยังผลการเลือกตั้งอันแสนคลุมเครือที่ฟลอริดาในปี 2000
ที่พาให้บุชเข้าสู่ทำเนียบขาว และเปลี่ยนแปลงโลกทั้งใบ

อย่างที่กล่าวไว้ข้างต้น หนังสารคดีเหล่านี้หนีไม่พ้นถูกมองว่ายืนอยู่ฝั่งตรงข้ามบุชจูเนียร์และพรรครีพับลิกัน กระนั้น ข้อเท็จจริงที่ว่าพรรครีพับลิกันของบุชพ่ายแพ้ในการเลือกตั้งกลางเทอม ปล่อยให้ฝ่ายตรงข้ามอย่างเดโมแครตครองเสียงข้างมากในสภาเป็นครั้งแรกในรอบ 12 ปี มีสาเหตุปัจจัยที่สามารถมองเห็นชัดเจนอยู่แล้ว และหนังเล็กๆ เหล่านี้คงไม่มีอิทธิพลรุนแรงขนาดนั้น

หนังเรื่องไหนมีเจตนาแอบแฝง หรือเรื่องใดเป็นการทำหน้าที่สื่อโดยปราศจากอคติ การชมและพิจารณาอย่างถี่ถ้วนน่าจะพอตัดสินในเบื้องต้นได้ และในสหรัฐเองไม่ได้มองการแสดงออกลักษณะนี้เป็นเรื่องใหญ่หรือเรื่องที่สมควรถูกตำหนิ

ลองย้อนกลับมามองในบ้านเรา ถ้ามีคนทำหนังแบบนี้บ้าง ผลจะออกมาอย่างไร...

มติชน : วันที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2549 ปีที่ 29 ฉบับที่ 10480

No comments: